วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

1.เริ่มที่ใจ ปรับที่ความคิด (Rethink)







          เราต้องเริ่มที่ใจตนเอง  โดยเตือนตนว่าทุกคนเป็นผู้ใช้พลังงานทั้งสิ้น  เพราะฉะนั้นทุกคนจึงมีหน้าที่ในการประหยัดพลังงานด้วยกันทั้งนั้น  คนละเล็กละน้อย  ดีกว่าปล่อยเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่เพียงลำพัง  ทุกคนมีส่วนช่วยและเป็นแรงสำคัญในภารกิจนี้  ลูกๆ  จะใช้ไฟฟ้าในบ้าน  หรืเดินทางด้วยรถยนต์บ้าน  หรือซื้อของใช้ใดๆ  ควรหยุด  "คิดก่อนใช้"  สักนิดว่าจำเป็นมากไหม  ไม่ใช้หรือใช้น้อยลงได้หรือเปล่า  รวมทั้งคิดอยู่เสมอว่า  จะใช้พลังงานให้คุ้มค่าให้มากที่สุด  แม้ลูกๆ  จะเป็นผู้ใช้พลังงานในปริมาณน้อย  แต่ถ้าทุกคน  ทุกบ้าน  และทั้งประเทศพร้อมใจกันคิดเหมือนกันว่า  กว่าจะมีพลังงานที่ใช้กันในวันนี้  ใช้เวลานับล้านๆ  ปี  และหามาทดแทนก็ยากมาก  ประหยัดพลังงานในวันนี้  ก็จะช่วยให้เรามีพลังงานใช้ในยามที่จำเป็นได้อีกนาน  เมื่อทุกคนคิดเหมือนๆ กัน  เราจะสามารถประหยัดพลังงานได้มากขึ้นเท่านั้น  เชื่อไหมครับว่าขณะนี้เยาวชนในหลายๆ  ประเทศต่างก็ช่วยรณรงค์ประหยัดพลังงานกันทั้งนั้น  แถมยังช่วยกันศึกษา  เพิ่มพูนความรู้รอบตัวเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงาน  และคิดหาวิธีประหยัดพลังงานเท่าที่ทำได้

2.สองมือ...ช่วยกันลด (Reduce = ช่วยกันลด)


    คือ  การใช้ไฟฟ้าและน้ำมันรวมทั้งสิ่งต่างๆ  ให้น้อยลง  เช่น  ปิดไฟทุกครั้งที่ไม่ใช้ไฟฟ้า  ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน  ปิดพัดลม  ปิดแอร์  เมื่อออกจากห้อง  ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ขณะแปรงฟันหรืถูสบู่ตอนอาบน้ำ  พยายามเลือกซื้อเลือกใช้ของที่ใช้ไฟน้อย  เช่น  เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานเบอร์  5  หรือวันไหน  คุณพ่อคุณแม่ห่อข้าวไปโรงเรียนให้  ควรใช้กล่องข้าวแทนกล่องโฟม  ใช้เสร็จแล้วเราก็ล้าง   นำกลับมาใช้ได้อีก  ขึ้นลงบันไดชั้นเดียวหรือสองชั้น  ไม่ใช้ลิฟต์  เดินทางไปไหนใกล้ๆ  ปั่นจักรยานแทนการใช้รถยนต์  ประหยัดน้ำมันแล้วยังได้ออกกำลังกายด้วยนะครับ  เลือกใช้แสงสว่างธรรมชาติ  แทนการใช้แสงสว่างจากหลอดไฟ  เช่น  การอ่านหนังสือหน้าบ้านที่มีแสงสว่างเพียงพอ  เปิดม่านหรือหน้าต่าง  อีกทั้งแทนที่จะดูทีวีเรื่องเดียวกันคนละเครื่อง  ก็ควรประหยัดมานั่งดุด้วยกัน  และเมื่อดูเสร็จแล้ว  ปิดสวิตช์  ถอดปลั๊กทุกครั้ง  เราสามารถประหยัดไฟได้มากกว่าการปิดโทรทัศน์ด้วยรีโมตคอนโทรล  โทรทัศน์ยังมีไฟฟ้าอยู่ภายใน  ทำให้เกิดการใช้ไฟอยู่ตลอดเวลา  และเลือกใช้บริการรถขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว  หากมีเพื่อนบ้านหรือเพื่อนๆ ที่ต้องการเดินทางไปเส้นทางเดียวกัน  ควรเอื้อเฟื้อกันโดยใช้รถยนต์คันเดียวกัน  (Car  Pool)  ช่วยกันลดปริมาณการใช้น้ำมันให้น้อยลง  และลดปริมาณการใช้รถยนต์บนท้องถนนอีกด้วยนะครับ

3.สองมือ...ใช้ให้คุ้ม (Reuse = นำของเก่ามาใช้ใหม่)


    คือ  การใช้แล้วใช้อีกจะคุ้มค่า  คุ้มพลังงาน  รวมทั้งเลือกใช้ของที่ไม่ต้องทิ้งด้วย  ยกตัวอย่างเช่น  กล่องกระดาษ  ขวดน้ำ  กระป๋อง  ถุงพลาสติก  สามารถนำมาใช้ซ้ำได้อีกหลายครัง  ข้าวของเครื่องใช้  เช่น  เฟอร์นิเจอร์  เสื้อผ้า  รองเท้า  หากชำรุด  เสียหาย  ควรซ่อมแซม  ไม่ด่วนทิ้ง  หรือหากครอบครัวเราไม่ใช้แล้ว  นำไปบริจาคให้หน่วยงานสาธารณกุศลซ่อมแซมเพื่อใช้ได้ใหม่  นอกจากนี้ในโอกาสที่เลือกได้เราควรเลือกใช้ของที่คงทนไม่กลายเป็นขยะได้ง่าย  เช่น  กระเป๋าผ้าแทนถุงพลาสติก แก้วน้ำแทนแก้วกระดาษ  การใช้อุปกรณ์ของใช้อย่างคุ้มค่า  นอกจากจะเป็นการประหยัดพลังงานแล้วยังช่วยลดปริมาณขยะและช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดขยะได้อีกตามตัวเลยนะครับ

4.สองมือ...ช่วยกันเลือก (Recycle = การนำของเก่ากลับมาใช้โดยผ่านกระบวนการ)

        

      เป็นวิธีการนำของเสียมาผลิตอีกครั้ง  เช่น  กระดาษ  Recycle  ลูกๆ  ควรเลือกใช้สิ่งของที่ยังมาผลิตอีกได้  เช่น  แก้ว  กระดาษ  ช่วยลดปริมาณขยะและประหยัดพลังงานในการผลิตเราสามารถนำมาใช้ใหม่โดยดัดแปลงให้เป็นที่ใส่ของหรือเป็นกระถางต้นไม้ก็ได้  พอพูดเรื่องขยะ  นึกขึ้นได้ครับ  ถังขยะจะมีหลายสี  เคยลองสังเกตกันไหมครับ  แต่ละสีจะรองรับขยะแตกต่างกันไป  เพราะขยะบางอย่างยังสามารถนำกลับมาใช้ได้  เรามาลองดูกันนะครับ  ว่าถังขยะสีไหนใส่ขยะอะไรบ้าง  ลูกๆ  จะได้ทิ้งขยะถูกถังไงครับ

ถังขยะสีเหลือง


 
      สำหรับทิ้งขยะแห้งครับ  เป็นขยะประเภทที่สามารถนำไปผลิตและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก  เช่น  แก้ว  พลาสติก  เศษกระดาษ  กระป๋อง

ถังขยะสีเขียว


     สำหรับขยะเปียกนะครับ  เปียกไม่ได้หมาความว่า  เปียกนัำนะครับ  แต่หมายถึงเป็นขยะที่สามารถย่อยสลายได้ หรือสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักได้  เช่น  บรรดาเศษอาหาร  เศษขนมต่างๆ  ใบไม้

ถังขยะสีฟ้า

    สำหรับขยะทั่วๆ ไปครับ  ที่ย่อยสลายไม่ได้  หรือถ้าจะนำไปผลิตใหม่ได้ยากและไม่คุ้มค่า  เช่น  ซองบะหมี่  ถุงพลาสติกที่เปื้อนคราบอาหาร  พลาสติกห่อขนมต่างๆ

ถังขยะสีแดง


















     

 สำหรับทิ้งขยะที่มีอัตราย  ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อร่างกายของมนุษย์ครับ  เช่น  บรรดาบรรจุภัณฑ์อันตรายจากสารเคมีต่างๆ ขวดน้ำยาฆ่าแมลง  ถุงปุ๋ย  กระป๋องสี  กระป๋องสเปรย์  แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว  หลอดไฟ  ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว





5.หนึ่งใจ สองมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Reform)



     หลังจากที่ลูกๆ  ลองทบทวนข้อเสียของตนเอง  ที่เคยทำเกี่ยวกับการใช้พลังงานก่อนว่า  ในหนึ่ง ๆ  ลูกๆ  เคยใช้พลังงานฟุ่มเฟือยเกินไปหรือเปล่า  ต่อจากนี้ไปเราจะเริ่มตันประหยัดพลังงานกันดีกว่า  โดยใช้  4  วิธีที่อ่านมาก่อน  ดูแลด้วยสองมือ  ซึ่งเป็นเพียงหลักเริ่มต้นง่าย  ในการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมให้โลกเราสวยงามต่อไป  ทำให้เราจะยังมีพลังงานเหลือเผื่อลูกหลาน  รุ่นต่อๆไป ลูกค่อยๆลองปฏิบัติตั้งแต่วันนี้พ่อตะวันก็ดีใจแล้วครับ...

แหล่งอ้างอิง
 
     บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน).สอนลูกรู้ค่าพลังงาน.กรุงเทพฯ : บริษัท แปลน กราฟิค จำกัด,2551.